วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ร้านนิวไชน่าพาเที่ยวไชน่าทาวน์

สวัสดีครับ ร้านนิวไชน่า มีความยินดีที่จะพาท่านท่องเที่ยวและให้ความรู้รวมทั้งประวัติ ของชนชาติจีน สถานที่ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในเชิงคุณค่าประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้อนุชนลูกหลานคนจีนได้เรียนรู้และทราบถึงประวัติของบรรพบุรุษของเราเอง


กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 - 2394

ชาวจีนอาศัยเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายและตั้งหลักแหล่งอยู่ทั่วไปในเมืองไทยแต่โบราณ แหล่งหนึ่งที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มานานคือเมืองบางกอกหรือธนบุรี ซึ่งมีชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งมีพระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ ก็มีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาอยู่ที่นี่จำนวนมาก และเกิดชุมชนจีนขึ้นอีกแห่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ

พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และย้ายที่ตั้งราชธานีมาอยู่ทางฝั่งตะวันออก ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนจีนในบริเวณนั้นย้ายมาอยู่ริมแม่น้ำทางทิศใต้ของพระนคร โดยพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือน อยู่ระหว่างคลองวัดสามปลื้มกับคลองวัดสามเพ็ง ต่อมาเรียกย่านนี้ว่า สำเพ็ง ซึ่งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองหลวง ช่วงเวลา 3 รัชกาลแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนจีนที่สำเพ็งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการค้าสำเภาระหว่างไทยกับจีนขยายตัว และรัฐบาลไทยเปิดรับชาวจีนเข้ามาเป็นแรงงานในกิจการต่าง ๆ ส่วนใหญ่จีนใหม่ที่เพิ่งมาจากเมืองจีนจะมาตั้งหลักที่สำเพ็ง แล้วจึงหาลู่ทางขยับขยายต่อไปยังที่อื่น

ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นช่วงเวลาของการสร้างราชธานีใหม่และฟื้นฟูประเทศ ซึ่งต้องการแรงงานจำนวนมาก แต่ขณะนั้นพลเมืองไทยมีน้อย รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายจ้างแรงงานชาวจีนเข้ามาทำงานในกิจการต่าง ๆ ตั้งแต่การก่อสร้าง ขุดคลอง จนถึงการค้าสำเภากับประเทศจีนซึ่งเป็นรายได้หลักของไทยในยุคนั้น โดยที่ชาวจีนมีนิสัยอดทน สู้งานหนัก และถนัดกาค้า รัฐบาลจึงมีมาตรการหลายอย่างเพื่อจูงใจให้ชาวจีนเข้ามาทำงานในเมืองไทย ในยุคนี้ ชาวจีนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ได้สิทธิ์เดินทางเข้าออกประเทศไทยโดยเสรี เมื่อเข้ามาแล้วจะเลือกสักข้อมือเข้าสังกัดมูลนายเหมือนคนไทยก็ได้ หรือจะอยู่อย่างอิสระโดยจ่ายเงินค่า "ผูกปี้" ให้หลวงก็ได้ สิทธิพิเศษนี้ทำให้ชาวจีนเดินทางไปรับจ้างทำงานได้ทั่วประเทศ โดยไม่มีภาระต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานให้มูลนายปีละ 3 - 4 เดือนอย่างคนไทย ชาวจีนจึงมีโอกาสมากมายในการทำมาหากินก่อร่างสร้างตัว นอกจากเป็นแรงงานรับจ้างแล้ว ชาวจีนยังประกอบอาชีพช่างฝีมือ ค้าขาย ทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เป็นต้น หลายคนสามารถสะสมทุนทรัพย์สร้างฐานะจนมั่งคั่งเป็น "เจ้าสัว"

"ผูกปี้" เป็นวิธีที่รัฐบาลไทยใช้เรียกเก็บเงินจากชาวจีนแทนการเกณฑ์แรงงาน เมื่อชาวจีนจ่ายเงินค่าผูกปี้แล้ว เจ้าพนักงานจะใช้เชือกป่านผูกให้ที่ข้อมือและใช้ครั่งกดติดที่ปมเชือกให้เป็นรูปกลมคล้ายปี้ที่ใช้ในโรงบ่อน แล้วประทับตราของทางราชการเป็นหลักฐาน ช่วงเวลาที่จัดการผูกปี้คราวหนึ่งราว 6 เดือน เมื่อพ้นไปแล้วก้ตัดปี้ที่ข้อมือทิ้งได้ ในตอนแรกเริ่มรัฐบาลเรียกเก็บค่าผูกปี้จากชาวจีนคนละ 2 บาทต่อปี ต่อมาเปลี่ยนเป็น 4 บาท ต่อ 3 ปี อัตรานี้ต่ำกว่าที่คนไทยต้องจ่ายเดือนละ 6 บาท หากไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงานตามปกติ

ยุคแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับสมัยราชวงศ์ชิงปกครองประเทศจีน ขณะนั้นมีกฎหมาย ห้ามชาวจีนอพยพออกนอกประเทศ ด้วยเกรงจะไปรวมกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ชิงที่เป็นชาวแมนจู แต่กฎหมายนี้ก็ไม่อาจสกัดกั้นการอพยพได้ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่ทำกินมีน้อย และยังประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่องจนเกิดภาวะอดอยากขาดแคลน ชาวจีนจากแถบนี้ซึ่งมีเป็นจำนวนมากอาศัยเรือสินค้าเดินทางมาทำมาหากินในเมืองไทย

ด้านกาค้ากับต่างประเทศ รัฐบาลจีนกำหนดให้เรือสินค้าต่างชาติ ติดต่อค้าขายกับจีนได้ที่เมืองกวางโจว(กวางตุ้ง) เท่านั้น แต่เรือสำเภาของไทยซึ่งใช้คนจีนเป็นผู้ดำเนินการ สามารถเดินทางไปค้าขายตามเมืองต่าง ๆ ได้เหมือนเรือท้องถิ่นของจีน ตั้งแต่เกาะไหหลำ เรื่อยขึ้นไปจนถึงเมืองหนิงโป เซี่ยงไฮ้ และเทียนสิน บริเวณที่มีการค้าขายกันมากที่สุดคือทางตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้งที่เชื่อมต่อกับตอนใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน โดยเฉพาะจังหวัดเฉาโจวหรือแต้จิ๋ว(เตี่ยจิว)

ระหว่าง พ.ศ. 2383 - 2385 เกิดสงครามฝิ่นระหว่างจีนกับอังกฤษ ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีน จีนถูกบังคับให้เปิดประเทศและต้องเสียค่าปฎิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล รัฐบาลต้องหารายได้เพิ่มด้วยการขึ้นภาษีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนทั่วไป เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ชาวจีนอพยพออกนอกประเทศ


ที่สำเพ็งยุคแรก มี "เก๋ง" หรือบ้านของ "เจ้าสัว" คหบดีจีนผู้มั่งคั่งหลายคน ซึ่งเป็นจีนเก่าที่อยู่เมืองไทยมานาน และสร้างฐานะจนเป็นที่ยอมรับในหมู่คนจีนด้วยกัน เจ้าสัวเหล่านี้เป็น "ตั้วเฮีย" (พี่ใหญ่) ที่ให้การอุปถัมภ์แก่จีนใหม่ด้วยระบบ "กงสี" หัวใจของกงสีคือคำว่า "กากีนั้ง" หมายถึงการดูแลพวกเดียวกัน ดุจญาติพี่น้อง กงสีแต่ละแห่งจึงเป็นศูนย์รวมของคนแซ่เดียวกันหรือมาจากถิ่นเดียวกัน ตั้วเฮียจะคอยช่วยเหลือตั้งแต่ให้ยืมเงินค่าผูกปี้ไปจนถึงค่ากินอยู่ และจัดหางานให้ อีกทั้งเป็นที่พึ่งพาในเรื่องต่าง ๆ โดยได้แรงงานและความภักดีตอบแทน ระบบกงสีนี้เป็นต้นเค้าของการรวมกลุ่มอั้งยี่และสมาคมต่าง ๆ ของคนจีนในยุคหลัง

การค้าสำเภากับจีน Junk Trade

รายได้หลักของไทยในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาจากการค้าสำเภากับประเทศจีนโดยมีพระคลังสินค้าของรัฐบาลเป็นผู้รวบรวมสินค้าและผูกขาดการค้ากับต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาศัยชาวจีนดำเนินการให้ทั้งหมด ตั้งแต่การเดินเรือไปจนถึงติดต่อซื้อขายกับพ่อค้าที่เมืองจีน เรือสินค้าของไทยยุคนั้นนิยมต่อแบบเรือสำเภาแต้จิ๋ว แต่ทาสีหัวเรือเป็นสีขาวเรียกว่า "สำเภาหัวขาว" เมื่อนำสินค้าไทยไปขายยังเมืองจีนแล้ว ขากลับก็จะนำสินค้าจีนกลับมาด้วย สินค้าหลักที่ไทยส่งออกในยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นของป่าและสินค้าเกษตรนอกจากนี้เรือสำเภาที่ต่อขึ้นในเมืองไทยด้วยไม้เนื้อดีแต่มีราคาถูก ก็เป็นสินค้าสำคัญเช่นกัน

สินค้าของจีนที่เมืองไทยต้องการในยุคนั้น ส่วนใหญ่เป็นของแปรรูป มีทั้งของราคาแพงสำหรับชนชั้นสูง และของใช้สำหรับคนทั่ว ๆ ไป

** ผ้าดิบ ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้าดำ

** เครื่องกระเบื้องเคลือบ

** กระดาษ พัด ร่ม เครื่องไหว้เจ้า

** ผักผลไม้แห้งและดอง ใบชา ยาจีน

** หินปูพื้น กระเบื้องมุงหลังคา ตุ๊กตาหิน

จนกระทั่งปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 การค้าด้วยเรือสำเภาเริ่มเสื่อมความนิยม และถูกแทนที่ด้วยเรือกลไฟแบบตะวันตก อันเป็นนวัตกรรมของยุคใหม่ที่ทำให้การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศสะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อน นับเป็นสัญญาณของการก้าวเข้าสู่ยุคที่ชาติตะวันตกแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ซึ่งในยุครุ่งเรืองของเรือกลไฟ ไทยหันไปค้าขายกับตะวันตกเป็นหลัก โดยรับบทบาทผู้ผลิตข้าว ไม้สัก และดีบุก ส่งออกสู่ตลาดโลก นำรายได้เข้าประเทศมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ขณะที่การค้ากับจีนลดความสำคัญลงนั้น ชาวจีนก็พากันโดยสารเรือกลไฟเข้ามาหางานทำในเมืองไทยมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว โดยมีแหล่งจ้างงานใหม่ ๆ เช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย เหมืองแร่ เกิดขึ้นมากมาย
หลัง พ.ศ.2400 มีเรือกลไฟขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ กับจีนตอนใต้ เปิดให้บริการเป็นประจำหลายเส้นทาง ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 7 - 10 วัน และเดินเรือได้ตลอดทั้งปี ทำให้จำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังเมืองไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้างกระโดด โดยเฉพาะจากซัวเถาและไหหลำ คลื่นชาวจีนรุ่นใหม่นี้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจสมัยใหม่ของไทย แทนที่เจ้าสัวผู้มั่งคั่งจากระบบเก่า

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ.2325 และโปรดเกล้าฯให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้น ณ ที่ตั้งชุมชนจีน โดยพระราชทานที่ดินแลกเปลี่ยนให้ชาวจีนย้ายมาตั้งชุมชนใหม่ที่ย่านสำเพ็ง ต่อมาพระยาราชาเศรษฐี หัวหน้าชาวจีนที่สำเพ็ง ได้ถวายบุตรีเป็นพระสนม คือ เจ้าจอมมารดาจุ้ย ซึ่งประสูติพระราชโอรสที่ภายหลังได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในรัชสมัยนี้ ราชสำนักไทยทำการค้าสำเภากับประเทศจีนภายใต้ระบบบรรณาการสืบต่อจากสมัยกรุงธนบุรี เป็นรายได้หลักของประเทศ และกรุงเทพฯ ก็พัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าสำเภาที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวจีนที่ชำนาญการค้าสำเภาเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่กรุงเทพฯ ทั้งพวกที่เป็นนักเดินเรือ พ่อค้า และนักต่อเรือช่วงปลายรัชกาลมีบันทึกว่าในกรุงเทพฯ มีคนจีนอยู่ถึงประมาณ 25,000 คน

บ้านเกิดของชาวจีนอพยพที่เข้ามาในประเทศไทย

ชาวจีนที่อพยพเข้ามายังประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากทางตอนใต้ของจีน แบ่งกลุ่มตามภาษาพูดและภูมิลำเนาได้ดังนี้





ชาวจีนฮกเกี้ยน มาจากตอนใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน





ชาวจีนแต้จิ๋ว มาจากทางตะวัดออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง





ชาวจีนแคะ มาจากตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง





ชาวจีนกวางตุ้ง มาจากตอนกลางของมณฑลกวางตุ้ง





ชาวจีนไหหลำ มาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ





จังหวัดเฉาโจวหรือแต้จิ๋ว ทางเหนือของมณฑลกวางตุ้ง เป็นย่านที่มีการค้าสำเภากับไทยมากที่สุดในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ท่าเรือสำคัญคือท่าจางหลิน ที่อำเภอเถ่งไห้ ซึ่งมีเรือสินค้าไทยจีนแล่นค้าขายกันเป็นประจำ เรือของจีนที่ออกจากท่าจางหลินจะทาสีหัวเรือเป็นสีแดง เรียกว่า "สำเภาหัวแดง" นอกจากสินค้าแล้ว เรือเหล่านี้ยังพาชาวจีนจำนวนมากมาหางานทำในเมืองไทย คำบอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ และคำชวนจากญาติพี่น้องที่เคยมา ทำให้ชายหนุ่มจากหมู่บ้านยากจนของแต้จิ๋วและจังหวัดใกล้เคียง ก้าวขึ้นเรือสำเภาหัวแดงด้วยความหวังเต็มเปี่ยมในช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดลงมาทางใต้ พาเรือสู่เมืองไทย



ใต้ท้องเรือเหล่านี้บรรทุกสินค้าจนเต็ม ที่อยู่ของผู้โดยสารคือดาดฟ้าเรือ แต่ละคนมีของติดตัวมาไม่กี่ชิ้น ที่สำคัญคือ เสื่อ หมอนไม้ไผ่สาน หมวกฟาง และไหน้ำ ส่วนอาหารหลักคือขนมเข่งซึ่งเก็บได้นาน และฟักเขียวซึ่งกินแทนน้ำได้อีกทั้งเป็นชูชีพหากเรือแตก การเดินทางจากจางหลินถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาราว 1 เดือน ระหว่างนั้นผู้โดยสารทำอะไรไม่ได้นัก นอกจากภาวนาขอเทพเจ้าคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัย รอดพ้นจากอันตรายกลางท้องทะเล ที่มีทั้งพายุคลื่นลม และความอดอยากหรือโรคภัยไข้เจ็บซึ่งอาจเกิดขึ้นในเรือ
เรือสำเภาจากเมืองจีน มาถึงกรุงเทพฯ ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน จุดที่เรือต่างชาติเข้ามาใกล้พระนครได้มากที่สุดคือย่านสำเพ็ง ซึ่งอยู่ติดกำแพงพระนครด้านทิศใต้ ในแม่น้ำย่านนี้มีเรือสินค้าจอดเปิดตลาดบนดาดฟ้าเรือกันคึกคัก สินค้าส่วนหนึ่งถูกลำเลียงไปยังร้านค้าต่าง ๆ ในสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านตลาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนและร้านรวงของ ชาวจีนตั้งอยู่หนาแน่น ส่วนตามริมแม่น้ำก็มีเรือนแพ ของพ่อค้าจีนอยู่เรียงราย ผู้โดยสารชาวจีนจำนวนมากก้าวลงจากเรือที่นี่ คนจีนใหม่ที่เพิ่งมาเมืองไทยครั้งแรกจะมีญาติพี่น้องหรือคนจากหมู่บ้านเดียวกันคอยช่วยเหลือในการตั้งต้นชีวิตบนแผ่นดินใหม่ หลายคนได้งานทำอยู่ที่สำเพ็งเริ่มจากรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม หรือขายของหาบเร่ แล้วจึงขยับขยายสู่อาชีพอื่น ๆ

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กรุงเทพฯ เป็นแหล่งต่อเรือสำเภาที่สำคัญ และการค้าสำเภาไทย-จีนเจริญรุ่งเรืองสูดสุด สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก จอห์น ครอว์ฟอร์ด ทูตอังกฤษที่เข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2364 บันทึกไว้ว่ากองเรือสินค้าของไทยมีระวางบรรทุกถึงปีละ 24,562 ตัน ใช้คนจีนทำงานถึง 4,912 คน และยังกล่าวว่าเรือสำเภาที่ค้าขายระหว่างไทย-จีน นำคนจีนเข้ามาประมาณปีละ 7,000 คน โดยในรัชสมัยนี้รัฐบาลไทยเริ่มมีนโยบายจ้างแรงงานชาวจีนทำงานโยธาแทนการเกณฑ์แรงงานไพร่ และชาวจีนในเมืองไทยเริ่มมีการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันในลักษณะกงสี





พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงรับบุตีของพระยาอินทรอากร(เจ้าสัวเตากะทะ) พ่อค้าสำเภาชาวจีนที่มั่งคั่งในย่านสำเพ็ง เป็นพระสนม คือ เจ้าจอมมารดาอำภา มีพระราชโอรสที่สำคัญ 2 พระองค์ ซึ่งเป็นต้นราชสกุลกปิตถาและปราโมช

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวขาญการค้าสำเภามาตั้งแต่ครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ 2 ทรงดูแลการแต่งสำเภาหลวงไปค้าขายกับจีน ได้ผลกำไรมากมายเข้าท้องพระคลัง และมีพระราชนิยมในศิลปะจีน ทำให้ศิลปะจีนเป็นที่นิยมแพร่หลายในเมืองไทย
ในช่วงต้นรัชสมัยของพระองค์ พ.ศ.2368 อังกฤษส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เข้ามาทำสนธิสัญญาการค้า รัฐบาลไทยต้องยกเลิกสิทธิผูกขาดการค้ากับต่างประเทศ เปิดโอกาศให้เอกชนชาวจีนเข้ามารับสัมปทานการส่งออกสินค้าแทน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชบายในการหารายได้เพิ่มเติมให้แก่รัฐ ด้วยการนำระบบเจ้าภาษีนายอากรมาใช้ โดยเปิดให้เอกชนประมูลเป็นผู้ผูกขาดการจัดเก็บภาษีอากร 38 ประเภท ผู้ประมูลได้ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าจีนที่มั่งคั่ง ชาวจีนจึงมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย ในรัชสมัยนี้มีชาวจีนอาศัยอยู่ในเมืองไทยจำนวนมาก รัฐบาลจึงตั้งตำแหน่งนายอำเภอจีนเพื่อดูแลชาวจีนในแต่ละท้องถิ่น

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2393 - 2411

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดประเทสรับอารยธรรมตะวันตกและเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศ ซึ่งเริ่มแต่ครั้งที่อังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาวริ่ง มาทำสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2398 รัฐบาลไทยยกเลิกระบบผูกขาดการค้าโดยสิ้นเชิง แต่ระบบเจ้าภาษีนายอากรที่ดำเนินการโดยชาวจีนยิ่งเฟื่องฟูเพื่อชดเชยรายได้ของรัฐ ขณะเดียวกันชาวจีนได้มีบทบาทสำคัญเป็นคนกลางในการค้ากับตะวันตกซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการค้าเสรียังทำให้มีความต้องการแรงงานมากยิ่งขึ้นเพื่อผลิตสินค้าส่งออก เปิดโอกาสให้ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองไทย จนเกิดการแข่งขันเรื่องการจัดการแรงงาน โดยเกิดกงสีขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งต่อมากลายเป็นสมาคมลับที่มักกระทบกระทั่งกัน รัฐบาลควบคุมดูแลชาวจีนเพิ่มขึ้นโดยตั้งตำแหน่งปลัดจีน เป็นที่ปรึกษาในการตัดสินคดีความของคนจีน





ในรัชสมัยนี้มีการขยายเขตตัวเมืองกรุงเทพฯ ไปทางตะวันออก โดยขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูเมืองชั้นนอก สำเพ็งกลายเป็นชุมชนภายในพระนคร และมีการตัดถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นถนนสมัยใหม่สายแรกของกรุงเทพฯ ผ่านสำเพ็ง ทำให้ย่านการค้าของคนจีนบริเวณนี้ขยายตัวตามไปด้วย





สภาวการณ์ในประเทศจีน ความพ่ายแพ้ของจีนในสงครามฝิ่นครั้งแรก ทำให้เกิดกบฎใต้ผิงต่อต้านราชวงศ์ชิง ซึ่งลุกลามไปหลายมณฑลในระหว่าง พ.ศ. 2398 - 2403 ราชสำนักชิงปราบปรามอย่างรุนแรง ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากอพยพลี้ภัยไปนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ระหว่างจีนกับมหาอำนาจตะวันตกในช่วง พ.ศ. 2399 - 2403 ซึ่งจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องยอมเปิดเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งยกเลิกคำสั่งห้ามชาวจีนออกนอกประเทศ ทำให้การส่งแรงงานจีนไปต่างประเทศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยใน พ.ศ.2404 มีการเปิดเมืองซัวเถาเป็นเมืองท่าอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ชาวแต้จิ๋วอพยพมายังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทย


ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2411 - 2453

ในรัชสมัยของพระองค์ มหาอำนาจตะวันตกแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศผ่านวิกฤตและดำรงเอกราชไว้ได้ ทรงพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยแบบตะวันตก และปฎิรูประบบราชการซึ่งรวมถึงยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากรเกือบทั้งหมด แต่พ่อค้าจีนก็สามารถปรับตัวและสร้างความมั่งคั่งจากธุรกิจใหม่โดยเฉพาะการค้าข้าว ชาวจีนในเมืองไทยเริ่มรวมตัวกันในรูปแบบใหม่เป็นสมาคมกลุ่มภาษาต่าง ๆ และองค์กรสาธารณกุศลช่วยเหลือสังคม ขณะที่การรวมกลุ่มแบบสมาคมลับถูกปราบปรามอย่างจริงจัง ช่วงปลายรัชการรัฐบาลยกเลิกการผูกปี้คนจีน เปลี่ยนเป็นเก็บเงินช่วยราชการแผ่นดินปีละ 6 บาทเท่ากับคนไทย
ชุมชนจีนย่านสำเพ็งในรัชสมัยนี้ได้รับการพัฒนาอย่างมาก มีการตัดถนนใหม่หลายสายรวมถึงถนนเยาวราช และมีวัดจีนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งโรงพยาบาลของคนจีน ธนาคารจีน หนังสือพิมพ์จีน และโรงเรียนจีน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินที่วัดต่าง ๆ ในย่านสำเพ็งเป็นประจำ ทำให้ชาวจีนย่านนี้ได้มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างใกล้ชิด

สภาวการณ์ในประเทศจีน ความอ่อนแอของราชวงศ์ชิงที่ทำให้จีนต้องแพ้สงครามกับต่างชาติหลายครั้ง ทำให้เกิดกลุ่มปฎิวัติที่มุ่งโค่นล้มราชวงศ์ชิงและสถาปนาระบอบสาธารณรัฐ ดร.ซุนยัดเซ็น ผู้นำกลุ่มปฎิวัติเดินทางไปยังชุมชนจีนโพ้นทะเลในหลายประเทศเพื่อเผยแพร่แนวความคิดและแสวงหาการสนับสนุนโดยได้เข้ามาเมืองไทยถึง 4 ครั้ง ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมขึ้นในหมู่ชาวจีนในเมืองไทยเป็นอย่างมาก ส่วนฝ่ายราชสำนักชิงก็หันมาให้ความสำคัญ กับชาวจีนโพ้นทะเลเช่นกัน โดยยกเลิกกฎหมายห้ามอพยพออกและกลับเข้าประเทศ อีกทั้งให้ยศถาบรรดาศักดิ์แก่ผู้สนับสนุนราชสำนัก นอกจากนี้ยังออกพระราชบัญญัติสัญชาติจีนฉบับแรก เมื่อ พ.ศ. 2452 ซึ่งรับรองบุตรของบิดาที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลให้ได้สัญชาติจีนโดยกำเนิด โดยไม่คำนึงถึงสถานที่เกิดหรือสัญชาติอื่น

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2453 - 2468

กระแสชาตินิยมจีนที่เกิดขึ้นก่อน ทำให้เกิดแนวคิดชาตินิยมไทยขึ้นในรัชสมัยนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มนโยบายสร้างความเป็นไทย โดยให้สิทธิ์แปลงสัญชาติเป็นไทย แก่คนต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี และประพฤติดี ต่อมา พ.ศ. 2456 ประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ ทำให้บุคคลที่เกิดในประเทศไทย บุคคลที่มีบิดาเป็นคนไทยไม่ว่าจะเกิดที่ใด บุคคลที่สมรสกับคนไทย และคนต่างชาติที่แปลงสัญชาติจะได้สัญชาติไทย ส่วนในด้านการศึกษาซึ่งมีโรงเรียนจีนจำนวนมากที่สอนแต่ภาษาจีนรัฐบาลไทยก็ออกกฎหมายให้ต้องมีการสอนภาษาไทยและประวัติศาสตร์ไทยด้วย เพื่อให้นักเรียนจีนมีความรู้เรื่องเมืองไทยและอยู่ในสังคมไทยได้อย่างกลมกลืน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับชัยชนะ ทำให้อิทธิพลของชาติตะวันตกในเมืองไทยลดลง เปิดโอกาสให้กิจการค้าข้าวของชาวจีนเติบโตอย่างมากเกิดแหล่งธุรกิจส่งออกข้าวที่ถนนทรงวาดในย่านสำเพ็ง และถนนเยาวราชก็เริ่มพัฒนาเป็นย่านธุรกิจสำคัญ

ในสภาวการณ์ในประเทศจีน พ.ศ. 2454 เกิดการปฎิวัติชินไฮ่โค่นล้มราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ จีนเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐภายใต้การนำของ ดร.ซุนยัดเซ็น แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง แต่หลังจากนั้นบรรดาขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลก็แย่งชิงอำนาจกัน ประเทศจีนแบ่งเป็นเขตอิทธิพลของขุนศึกต่าง ๆ ต่อมา พ.ศ.2463 มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์โดยได้รับอิทธิพลจากรัสเซีย ระยะแรกพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋งร่วมกันปราบปรามขุนศึกเพื่อรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ไม่นานทั้งสองฝ่ายก็ขัดแย้งกันและเกิดการต่อสู้ระหว่างสองแนวคิด ส่งผลให้ชาวจีนในเมืองไทยมีการเคลื่อนไหวตามแนวทางทั้งสอง เมื่อ ดร.ซุนยัดเซ็น ถึงแก่อสัญกรรม ใน พ.ศ.2468 ได้ระบุในพินัยกรรมให้ชาวจีนสามัคคีและต่อสู้เพื่อชาติต่อไป นักเรียนโรงเรียนจีนท่องพินัยกรรมนี้ต่อมาเป็นเวลานาน

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2468 - 2477

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นเดียวกันทั่วโลก ขณะเดียวกันชาวจีนก็เดินทางเข้ามาเมืองไทยมากเป็นประวัติการณ์ จนไทยต้องเริ่มจำกัดจำนวนคนต่างด้าวเข้าเมือง ความขัดแย้งในประเทศจีนประกอบกับการที่จีนถูกญี่ปุ่นรุกราน ส่งผลให้ชาวจีนในเมืองไทยเคลื่อนไหวทางการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนจีนที่มีอยู่หลายร้อยแห่ง รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลโรงเรียนจีน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนจีนในกรุงเทพฯ ที่ปฎิบัติตามระเบียบของราชการ 4 แห่ง เพื่อสร้างกำลังใจแก่ผู้บริหารของโรงเรียน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนและชาวไทย โดยทรงขอให้โรงเรียนจีนสอนให้นักเรียนรักเมืองไทยด้วย นอกจากที่สอนให้รักประเทศจีน และทรงย้ำถึงความสนิทสนมกลมเกลียวระหว่างจีนและไทยที่มีมาช้านาน ในรัชกาลนี้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อ พ.ศ.2475

สภาวการณ์ในประเทศจีน ประชาชนจีนกว่าครึ่งประเทศลุกขึ้นต่อต้านอำนาจขุนศึก พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ร่วมกันเอาชนะขุนศึกต่าง ๆ ได้ หลังจากนั้นพรรคก๊กมินตั๋งจัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่นานกิง และปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง เกิดสงครามกลางเมืองระหว่าง 2 พรรคกระจายไปทั่วประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์ต้องหนีไปตั้งหลักในเขตภูเขาตอนในหรือทางใต้ของประเทศ บางส่วนหลบหนีออกนอกประเทศ และส่วนหนึ่งได้เข้ามายังประเทศไทย ขณะเดียวกันนั้นญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลหัว พ.ศ. 2477 - 2498

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์ขณะทรงพระเยาว์ และประทับเพื่อทรงศึกษาในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ระหว่างนั้นได้เสด็จนิวัตประเทศไทยช่วงสั้น ๆ เพียง 2 ครั้งแต่ก็ทรงเป็นที่รักยิ่งของประชาชนทุกหมู่ทุกเกล่า ในช่วงต้นรัชสมัยนี้มีการจัดตั้งสมาคมจีนสยามขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2479 เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวจีนและชาวไทยหลังจากนั้นรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามก็มีนโยบายส่งเสริมให้คนจีนกลายเป็นไทยอย่างจริงจัง แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นยกกำลังเข้ามาในประเทศไทยและขอใช้ดินแดนไทยเป็นทางผ่าน รัฐบาลไทยต้องยอมให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่น จึงเกิดความขัดแย้งกับชาวจีนที่มีกระแสต่อต้านญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง หลังสงครามสิ้นสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชา (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรชาวจีนที่สำเพ็งอย่างใกล้ชิดเมื่อ พ.ศ.2498 ซึ่งสร้างความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นแก่ชาวจีนในเมืองไทย และสมานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้จางหาย

พ.ศ. 2480 สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการกองทัพญี่ปุ่นรุกคืบเข้าสู่ตอนใต้ของจีน และครอบครองมณฑลชายทะเลได้ทั้งหมด อีกทั้งเข้ายึดเมืองสำคัญ ๆ รวมทั้งกรุงนานกิจ รัฐบาลจีนพรรคก๊กมินตั๋งต้องถอยร่นเข้าไปยังดินแดนตอนในและหันมาร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น สงครามครั้งนี้กระตุ้นให้ชาวจีนในเมืองไทยเกิดกระแสต่อต้านญี่ปุ่นโดยทั่วไป ขณะเดียวกันทั้งสองพรรคของจีนต่างก็แข่งกันเผยแพร่อุดมการณ์ของตน จากนั้นเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และจีนได้รับชัยชนะในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ก็หันมาต่อสู้กันอีกครั้ง

อาชีพของชาวจีนในยุคแรก ๆ ที่มาเมืองไทย

ของใช้แบบไทยที่ทำจากทองเหลือง เช่น ขันน้ำ พานรอง ทัพพี โตก เชิงเทียน เครื่องเชี่ยนหมาก เป็นสิ่งที่คนไทยนิยมมีไว้ใช้ประจำบ้าน ส่วนใหญ่คนไทยเป็นผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้เองแต่ไม่ถนัดการค้า คนจีนเข้ามาเป็นคนกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ โดยเปิดร้านขายอยู่ที่สำเพ็ง การที่พ่อค้าจีนในยุคนั้นมักมีภรรยาเป็นคนไทย ช่วยให้การติดต่อซื้อขายกับคนไทยเป็นไปอย่างราบรื่น





ร้านชำ ร้านชำในสำเพ็งขายอาหารแห้งและของหมักดองแบบจีน รวมทั้งผลไม้สดจากเมืองจีนที่จัดเป็นของแพงในยุคนั้น และยังมีของใช้ต่าง ๆ สำหรับวิถีชีวิตจีน เช่น เครื่องไหว้เจ้า โคมกระดาษ ตะเกียง เดิมสินค้าในร้านชำส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเมืองจีนเพื่อลูกค้าชาวจีนเป็นหลัก ต่อมาหลายอย่างได้แพร่หลายไปสู่คนไทยด้วย





ร้านเครื่องกระเบื้องถ้วยชาม เครื่องถ้วยชามเนื้อกระเบื้องเคลือบ เป็นสินค้าที่นำเข้าจากเมืองจีนเป็นจำนวนมากในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีทั้งแบบที่สั่งทำเป็นพิเศษสำหรับชนชั้นสูงและแบบที่ทำมาขายคนทั่วไป โดยในยุคนั้นไทยยังผลิตได้ไม่ดีเท่า นอกจากนี้ในร้านเครื่องกระเบื้องยังมีสินค้าราคาแพงอื่น ๆ จากเมืองจีน เช่น เครื่องแก้ว ผ้าแพร เป็นต้น





หาบจุ๋ยก้วย จุ๋ยก้วยคือขนมถ้วยแบบจีน ทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่งสุก เวลาขายตักใส่กระทงโรยหน้าด้วยกระเทียม หัวไชโป๊วสับละเอียด และปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำ เป็นของกินเล่นที่นิยมในหมู่คนจีนเพราะอิ่มท้องและราคาถูก การหาบเร่ขายของกินแบบนี้เป็นอาชีพหนึ่งของจีนใหม่ ใช้ทุนไม่มากนัก





คนสานโคม โคมกระดาษเป็นเครื่องใช้ตามบ้านเรือนและใช้ในพิธีต่าง ๆ ของคนจีน ในชุมชนจีนจึงมีคนสานโคมขายเป็นอาชีพ ซึ่งรวมถึงการเขียนตัวอักษรลงบนโคม โคมสำหรับแขวนหน้าร้านค้ามักเขียนตัวอักษรสีแดงเป็นชื่อร้าน ส่วนโคมที่ใช้ในงานศพเขียนด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ในสำเพ็งมีตรอกเล็ก ๆ ชื่อตรอกโรงโคม เป็นแหล่งที่ทำโคมขายกันมาก





หาบก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวคืออาหารเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า กินกับน้ำแกงโดยใส่เครื่องประกอบต่าง ๆ คนจีนแต้จิ๋วนำมาเผยแพร่จนเป็นที่นิยมในเมืองไทย จีนใหม่หลายคนยึดอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวโดยหาบอุปกรณ์เดินเร่ขายไปตามที่ต่าง ๆ ในยุคนั้นลูกค้าที่จะกินก๋วยเตี๋ยวต้องนำชามมาใส่เอง











สำเพ็ง ตลาดใหญ่ที่สุดของพระนครต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกกำแพงพระนครมีย่านชุมชนหนาแน่นอยู่แห่งเดียว คือสำเพ็ง ถนนสายเดียวที่อยู่นอกกำแพงพระนครก็คือตรอกสำเพ็งเป็นทางเดินแคบ ๆ ตั้งต้นจากประตูสะพานหันออกมาเป็นระยะทางกว่า 800 เมตร มีบ้านเรือนร้านค้าของชาวจีนตั้งเรียงรายโดยตลอด นับเป็นย่านการค้าสำคัญที่สุดของกรุงเทพฯ โดยเป็นแหล่งที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างคึกคัก ทั้งการกระจายสินค้าที่มาจากเมืองจีนและรวบรวมสินค้าไทยที่จะส่งออก ทั้งเป็นแหล่งค้าปลีกที่คนกรุงเทพฯ นิยมมาซื้อหาสินค้านานาชนิด ในตลาดสำเพ็งมีร้านขายของกินของใช้ทั้งสำหรับคนจีนและคนไทย และยังมีสถานเริงรมย์ เช่น โรงบ่อน และสำนักนางโลม(โคมเขียว) โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในย่านนี้เป็นแบบจีน ปลูกประชิดแออัดกันจึงเกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2498 - ปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ทรงอุทิศพระองค์ให้กับการพัฒนาประเทศ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปในทุกท้องถิ่น และประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรทุกเชื้อชาติศาสนา จึงทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่าให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและเกิดสำนึกในความเป็นคนไทยอย่างเท่าเทียมกัน ต้นรัชสมัยเป็นช่วงสงครามเย็นที่ทั่วโลกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ไทยอยู่ในฝ่ายโลกเสรี ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ จึงยังไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ การติดต่อกันเป็นเรื่องยาก และการอพยพของชาวจีนเข้ามาในเมืองไทยก็ยุติลง จนถึง พ.ศ.2518 ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ชาวไทยและชาวจีนจึงเริ่มติดต่อกันอย่างเสรีอีกครั้ง และในระดับประเทศก็มีสัมพันธไมตรีที่แน่นแฟ้นตลอดมา ในรัชกาลนี้ชุมชนจีนเยาวราชเฟื่องฟูถึงขีดสุดในระหว่าง พ.ศ. 2490 - 2500 กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจและแหล่งบันเทิงชั้นนำของกรุงเทพฯ

สภาวการณ์ในประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีเหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำ สามารถเอาชนะพรรคก๊กมินตั๋ง และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2492 โดย จัดตั้งรํฐบาลขึ้นที่กรุงปักกิ่ง หลังจากนั้นได้ใช้นโยบายปิดประเทศ และปฎิรูปเศรษฐกิจในแนวทางสังคมนิยมอย่างเข้มข้น ตามมาด้วยการปฎิวัติวัฒนธรรมซึ่งส่งผลกระทบในทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนในประเทศไทยกับญาติพี่น้องที่ประเทศจีนต้องหยุดชะงักไปในระยะนี้ เพราะไม่สามารถติดต่อกันได้ เมื่อเหมาเจ๋อตุงถึงแก่อสัญกรรม ใน พ.ศ. 2519 ยุคของการปฎิวัติวัฒนธรรมก็สิ้นสุดลง ประเทศจีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงเปลี่ยนมาดำเนินนโยบายเปิดประเทศสู่สังคมโลก ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาชาติและพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความทันสมัย ส่งผลให้ประเทศจีนเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน

เส้นทางสู่ยุคทอง พ.ศ. 2394 - 2500

ช่วงเวลาร้อยปีเศษนับจากการเริ่มต้นของยุคเรือกลไฟ ชุมชนจีนที่สำเพ็งเติบโตขยายตัวขึ้นอย่างมากตามจำนวนคนจีนที่เข้ามาใหม่ เกิดถนนหลักสายใหม่คือถนนเยาวราชซึ่งพัฒนามาเป็นย่านธุรกิจใหญ่และบันเทิงที่ทันสมัยที่สุดของกรุงเทพฯ ในช่วง พ.ศ.2500 และชื่อถนน "เยาวราช" ก็กลายเป็นคำที่ใช้เรียกย่านชุมชนจีนกรุงเทพฯ แห่งนี้โดยรวม

นอกจากนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญแบบตะวันตกซึ่งทำให้มีการตัดถนนใหม่หลายสายในย่านนี้แล้ว ความเจริญรุ่งเรืองของเยาวราชยังมีพื้นฐานสำคัญมาจากความสามารถของชาวจีนในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ คือระบบการค้าเสรี ซึ่งชาวตะวันตกนำเข้ามาพร้อม ๆ กับเรือกลไฟ พ่อค้าจีนเรียนรู้โอกาสที่เปิดขึ้นใหม่นี้และใช้ธาตุทรหดดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จ เริ่มจากการค้าข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ แล้วขยายสู่ธุรกิจอื่น ๆ หลากหลาย สร้างความมั่นคงและแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจยุคใหม่ของไทย อันมีศูนย์กลางอยู่ที่เยาวราช

ถนนเยาวราช เป็นหนึ่งในถนนที่สร้างขึ้นตามโครงการตัดถนน 18 สาย เพื่อส่งเสริมการค้าขายในอำเภอสำเพ็ง ตามที่กระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 ถนนสายนี้เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2435 ในบริเวณที่แต่เดิมเป็นชุมชนแออัดของชาวจีน เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยสกปรกรุงรัง เป็นพื้นที่ด้านหลังระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนสำเพ็ง การตัดถนนเยาวราชที่มีความยาวเพียง 1,532 เมตร กว้าง 20 เมตร ต้องใช้เวลาถึง 8 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้หลีกเลี่ยงบ้านเรือนของราษฎร แนวถนนจึงคดโค้งไปมา เมื่อตัดถนนเสร็จได้โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตึกแถวสมัยใหม่สองข้างถนนให้เช่าทำการค้าขาย เปิดโอกาสให้ชาวจีนจำนวนมากได้เริ่มต้นกิจการของตัวเองโดยมีห้างร้านถาวรทันสมัย เดิมเป็นย่านการค้าใหม่ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของอำเภอสำเพ็ง จนกลายเป็นอำเภอที่เก็บภาษีอากรได้มากที่สุดในประเทศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนน "เยาวราช" ซึ่งมีความหมายว่า "พระราชาผู้ทรงพระเยาว์" อันหมายถึงองค์รัชทายาท นับเป็นการเฉลิมพระเกียรติองค์รัชทายาทในขณะนั้น คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงเป็น "สยามมกุฎราชกุมาร" พระองค์แรก

ย่านธุรกิจค้าข้าวที่ถนนทรงวาด

สงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป ทำให้อิทธิพลของชาติตะวันตกในเมืองไทยลดลง เปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าข้าวของกลุ่มพ่อค้าจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากสงครามสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2461 ความต้องการข้าวในตลาดโลกก็พุ่งสูง พ่อค้าจีนพากันตั้งโรงสีข้าวอย่างมากมายจนต้องแย่งกันซื้อข้าวเข้าโรงสีเพื่อส่งออก โดยมีสำนักงานรับซื้อและส่งออกข้าวเกิดขึ้นจำนวนมากตามริมแม่น้ำที่ย่านสำเพ็งแถบถนนทรงวาดต่อเนื่องถึงถนนอนุวงศ์ ซึ่งจะส่งข้าวไปยังร้านค้าตัวแทนของตนที่สิงคโปร์ ฮ่องกง และซัวถัว เป็นหลัก และขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากแหล่งดังกล่าวมาจำหน่ายในย่านทรงวาดจนเกิดเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกระดับประเทศ ซึ่งพ่อค้าข้าวจากต่างจังหวัดจะสั่งซื้อสินค้าต่าง ๆ กลับไปจำหน่าย ถนนทรงวาดจึงกลายเป็นย่านธุรกิจสำคัญของชาวจีนก่อนที่จะขยายไปสู่ถนนเยาวราชในเวลาต่อมา

หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระหว่างไทยกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2398 รัฐบาลไทยอนุญาตให้ข้าวเป็นสินค้าส่งออกได้โดยเสรีเป็นครั้งแรก จากนั้นไม่นานไทยก็กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก การค้าข้าวกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาล มีโรงสีข้าวเกิดขึ้นมากมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในระยะแรกโรงสีและบริษัทส่งออกข้าวทั้งหมดเป็นของชาวตะวันตก โดยมีพ่อค้าจีนเป็น "คอมปราโดร์" ทำหน้าที่ตัวแทนให้กับบริษัทของฝรั่งในการจัดซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเข้าสู่โรงสี ซึ่งชาวจีนใช้เวลาเรียนรู้ธุรกิจใหม่นี้ราว 20 ปี ก็สามารถตั้งโรงสีแห่งแรกของตนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2422 และขยายกิจการค้าข้าวในกลุ่มคนจีนออกไปอย่างกว้างขวาง พ่อค้าจีนเก่าเป็นเจ้าภาษีนายอากรมาแต่เดิม และพ่อค้าจีนอิสระรุ่นใหม่จากตลาดค้าข้าวที่ซัวเถา ฮ่องกง และสิงค์โปร์ ต่างระดมทุนและสานความสัมพันธ์กันอย่างเข้มแข็ง เพื่อต่อสู้ในเชิงธุรกิจกับชาวตะวันตก จนในที่สุดชาวจีนก็เข้าควบคุมเครือข่ายการค้าข้าวของไทยไว้ได้ครบวงจร ตั้งแต่การรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา นำมาสีเป็นข้าวสาร และส่งออกต่างประเทศ


ในกระบวนการส่งออกข้าว ตัวแทนโรงสีจะนำตัวอย่างข้าวสารมาให้ "หยง" หรือนายหน้าซึ่งจะแบ่งตัวอย่างข้าวใส่ห่อและนำมาเสนอขายตามสำนักงานผู้ส่งออก ผู้จัดการสำนักงานจะตรวจคุณภาพของข้าวด้วยความชำนาญ โดยใช้เพียงสายตาและนิ้วสัมผัส ตรวจดูความชื้นและความสมบูรณ์ของเมล็ดข้าว ก่อนจะตกลง ราคา ปริมาณ และวันกำหนดส่งข้าว ซึ่งหยงจะดูแลให้โรงสีดำเนินการตามที่ตกลงกัน


ในที่สุดจากความสำเร็จในกิจการค้าข้าว ชาวจีนในเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำในธุรกิจสมัยใหม่อื่น ๆ จากชาวตะวันตก เพื่อให้พวกตนยืนหยัดอยู่ได้ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากรซึ่งเป็นแหล่งทุนสำคัญของพ่อค้าจีนมาแต่เดิม ซึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2450 - 2456 มีธุรกิจหลายอย่างที่ชาวจีนก่อตั้งขึ้นแล้วต้องเลิกกิจการไปอย่างรวดเร็ว ทั้งบริษัทเดินเรือ ธนาคาร และบริษัทประกันภัย เพราะขาดความรู้ความชำนาญ อีกทั้งเงินทุนไม่เพียงพอที่จะแข่งกับบริษัทของชาวตะวันตก แต่ประสบการณ์จากการต่อสู้ด้วยธาตุทรหดของนักธุรกิจจีนรุ่นนี้ เป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับคนรุ่นถัดมา ในที่สุดกลุ่มพ่อค้าจีนก็ได้กลับมาเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในธุรกิจสมัยใหม่ของไทยทั้งในกิจการนำเข้า ส่งออก ธนาคาร สถาบันการเงิน การประกันภัย การขนส่ง และการเดินเรือ นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา


ในปี พ.ศ.2451 พ่อค้าจีน 5 กลุ่มภาษาในกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันทำธุรกิจเป็นครั้งแรก จัดตั้งบริษัทเดินเรือชื่อ "บริษัทเรือเมล์จีนสยาม ทุนจำกัด" เพื่อเดินเรือรับส่งผู้โดยสารและสินค้าเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง-ซัวเถา-ไหหลำ แข่งกับบริษัทเยอรมันนอร์ดดอยท์เชอร์ลอยด์ ซึ่งผูกขาดการเดินเรือกรุงเทพฯ-ซัวเถาอยู่ในขณะนั้น บริษัทเรือของคนจีนนี้อาศัยบรรดาพ่อค้า โรงรับจำนำ ร้านโพยก๊วน จนถึงโรงรถลาก ช่วยกันเกลี้ยกล่อมลูกค้าของตนให้ใช้บริการเรือจีนแต่บริษัทเยอรมันซึ่งทุนหนากว่า ใช้กลยุทธ์ตัดราคาค่าโดยสารจาก 20 - 25 บาท เหลือเพียง 5 บาท บริษัทเรือเมล์จีนสยามสู้ไม่ไหวจึงขาดทุนอย่างหนักจนต้องเลิกกิจการไปใน พ.ศ. 2455

ค่านิยมการกินของดีของชาวจีน

ชาวจีนเมื่อสร้างฐานะได้พอควรแล้วก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน โดยมีค่านิยมว่าการกินของอร่อยเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต ตลาดที่เยาวราชจึงคัดสรรแต่ของดีมาจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้าจนขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์รวมวัตถุดิบ ชั้นเยี่ยมในการประกอบอาหาร โดยมีแหล่งของสดที่ตลาดเก่า ผักสดที่ตลาดกรมภูธเรศ ของแห้งที่ตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ย ทั้งหมดอยู่ใกล้กันสามารถเดินซื้อของได้ในคราวเดียว สินค้าในตลาดนี้แม้จะมีราคาสูงกว่าที่อื่น ๆ แต่ก็เป็นที่นิยมของลูกค้าเพราะเชื่อใจได้ว่าล้วนเป็นของดีมีคุณภาพ

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เดิมเป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วที่เก่าแก่ ซึ่งผู้ประกอบกิจการค้าในแถบนี้ให้ความนับถือ ศรัทธา ยึดเป็นที่พึ่งและกราบไหว้บูชาเพื่อความก้าวหน้าในกิจการของตนเอง ศาลเจ้าเป็นอาคารหลังเดียวขนาดย่อม สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน จากประตูใหญ่เข้าไปมีอาคารที่สร้างเป็นทรงภูเขาตามประเพณีนิยมของชาวจีน มีหลังคาใหญ่ปูด้วยกระเบื้องเคลือบสี มีมังกรปูนปั้น 2 ตัว หันเข้าหากันประดับอยู่ด้านบน และมีเสาที่พันรอบด้วยมังกรปูนปั้นตัวยาว ภายในมีแท่นบูชารูป เล่งบ๊วยเอี๊ยะ และภรรยาเป็นแท่นประธาน ฝั่งซ้ายมือตั้งแท่นเทพเจ้ากวนอูและฝั่งขวามือเป็นแท่นประทับราชินีแห่งสวรรค์ ส่วนด้านขวาใกล้ประตู เป็นที่ตั้งระฆังโบราณที่สร้างมาแต่รัชสมัยพระเจ้าเต้ากวงซึ่งเป็นฮ่องเต้ช่วงปลายราชวงศ์ชิงของจีน นอกจากจะมีอายุยาวนานกว่า 300 ปีแล้ว ความสำคัญของ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ยังอยู่ที่โบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ป้ายโบราณ 3 ป้ายที่เขียนขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากวางสีฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิง อีกป้ายหนึ่งเก่าแก่ยิ่งกว่าคือ ป้ายที่เขียนขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง รวมทั้งระฆังจารึกชื่อ เฉิน ไท จื้อ ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานที่ศาลเจ้านี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีกระถางธูปพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เก็บไว้ด้วย

ตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยตั้งอยู่ในซอยเล็ก ๆ มีร้านค้าตลอดสองข้างทาง เป็นแหล่งขายของแห้ง ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูปนานาชนิด มีจุดเด่นที่ร้านชำแบบกวางตุ้งหรือจาบฟอโผว ซึ่งจำหน่ายสินค้าทั้งอาหารแห้ง อาหารรมควัน เครื่องปรุงรส ของหมักดอง ทั้งที่ผลิตภายในประเทศ และสินค้านำเข้า รวมทั้งเครื่องครัวเครื่องใช้ของคนจีน ตลอดจนของไหว้ตามเทศกาล ช่วงตรุษจีนเป็นช่วงที่ตลาดคึกคักและมีสีสันที่สุด เต็มไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของไหว้เจ้า ร้านค้าต่าง ๆ จะจัดเตรียมสินค้าชนิดพิเศษสุดไว้บริการลูกค้า

ย่านตลาดเก่าและตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยเป็นตลาดเก่าแก่ตั้งอยู่ในซอยอสรานุภาพคนละฝั่งถนน เดิมเป็นตลาดเดียวกันมาก่อนที่จะมีถนนเยาวราชตัดแบ่ง บริเวณริมถนนในย่านนี้เต็มไปด้วยร้านขายของสดของแห้งแบบจีน มีทั้งร้านหมูแผ่นหมูหยอง ร้านกุนเชียง และร้านขนมจันอับ ร้านซีอิ๊วง่วนเชียง ร้านซีอิ๊วก้วงห่างเส็ง(ตราแมลงปอ) และร้านง่วนสูน(พริกไทยตรามือที่ 1)ซึ่งผลิตจำหน่ายไปทั่วประเทศก็ตั้งอยู่ที่นี่

ลองมาชมประวัติของศาลเจ้าเล่งบ๋วยเอี๊ยกันครับ
ซึ่งเป็นที่มาของชื่อตลาดนี้ด้วย


ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะที่ถนนเยาวราชมีสร้างขึ้นเป็นศาลเจ้าที่เกี่ยวกับเวียนเหอเยี่ยหยุนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิและสมาคมต่าง ๆ ที่นับถือท่านเหอเยี่ยหยุนโดยตั้งรูปเคารพของท่านไว้เป็นประธานศาลเจ้าอีกหลายแห่ง ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ตั้งอยู่ที่ซอยอิศรานุภาพ ถนนเยาวราชมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน สร้างขึ้นคริสต์ที่ 17 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง เนื่องจากป้ายที่เหลืออยู่ในศาลนี้มีข้อความที่บ่งบอกปีศักราชของจีน ทำให้ทราบว่าศาลเจ้านี้มีขึ้นก่อน พ.ศ.2201

เล่งบ๊วยเอี๊ยะ เซียนเหอเยี่ยหยุน เดิมชื่อ เคยหยี่ มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์หยวน ซึ่งขณะนั้นกำลังแย่งชิงอำนาจกับจูเหวียนจางในสงครามที่สระน้ำโปหยาง เฉินโหย่วถูกยิงด้วยธนูตายจูเหวียนจางจึงตั้งตนเป็นจักรพรรดิสถาปนาราชวงศ์ใหม่ว่า "เม้ง" ดังนั้นเคยหยี่จึงเปลี่ยนเป็น เหอเยี่ยหยุนและออกเดินทางไปยัง ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง โดยได้ศึกษาค้นคว้า การดูฮวงจุ้ยและการดูฤกษ์ยาม ท่านปฎิบัติธรรมเพื่อให้จิตใจสงบ ปล่อยปละผมเผ้า และการแต่งกายทำตัวสกปรกเยี่ยงขอทาน แต่ชาวบ้านก็ให้การเคารพนับถือมาก เรียกขานว่าเป็นเทพเจ้าเสือหมู่(เทพเจ้าเหา)ต่อมาไปอยู่ที่ศาลเจ้าสืออุ้ยที่ฮกเกี้ยน และศึกษาฌานสมาธิ เมื่ออายุ 50 ปี จึงออกเดินทางไปยังทิศเหนือที่เขาไท่หานเพื่อเผยแพร่หลักธรรมและวิถีแห่งเต๋าของเหล่าจือ ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ได้สั่งไว้ว่าให้เอาศพไปฝังไว้ที่อำเภอฉีซาน บริเวณที่ฝั่งศพนั้นได้ตั้งเป็นศาลเจ้าเพื่อให้คนกราบไหว้บูชา ตั้งชื่อว่า ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ และมีกระดาษยันต์ของเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เพื่อใช้สำหรับป้องกันภูตผีเป็นที่ลือชื่อ ศาลเจ้าโบราณที่ฉีซานจึงเป็นที่เคารพนับถือมาจนถึงปัจจุบัน













มาชมตลาดเหล่งบ๋วยเอี๊ยกันดีกว่าครับ













ไก่สด

ปลิงทะเล