วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กำเนิดชุมชนจีนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 - 2394

ชาวจีนอาศัยเรือสำเภาเดินทางมาค้าขายและตั้งหลักแหล่งอยู่ทั่วไปในเมืองไทยแต่โบราณ แหล่งหนึ่งที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มานานคือเมืองบางกอกหรือธนบุรี ซึ่งมีชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งมีพระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ ก็มีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาอยู่ที่นี่จำนวนมาก และเกิดชุมชนจีนขึ้นอีกแห่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ

พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และย้ายที่ตั้งราชธานีมาอยู่ทางฝั่งตะวันออก ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนจีนในบริเวณนั้นย้ายมาอยู่ริมแม่น้ำทางทิศใต้ของพระนคร โดยพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือน อยู่ระหว่างคลองวัดสามปลื้มกับคลองวัดสามเพ็ง ต่อมาเรียกย่านนี้ว่า สำเพ็ง ซึ่งกลายเป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองหลวง ช่วงเวลา 3 รัชกาลแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนจีนที่สำเพ็งเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการค้าสำเภาระหว่างไทยกับจีนขยายตัว และรัฐบาลไทยเปิดรับชาวจีนเข้ามาเป็นแรงงานในกิจการต่าง ๆ ส่วนใหญ่จีนใหม่ที่เพิ่งมาจากเมืองจีนจะมาตั้งหลักที่สำเพ็ง แล้วจึงหาลู่ทางขยับขยายต่อไปยังที่อื่น

ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นช่วงเวลาของการสร้างราชธานีใหม่และฟื้นฟูประเทศ ซึ่งต้องการแรงงานจำนวนมาก แต่ขณะนั้นพลเมืองไทยมีน้อย รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายจ้างแรงงานชาวจีนเข้ามาทำงานในกิจการต่าง ๆ ตั้งแต่การก่อสร้าง ขุดคลอง จนถึงการค้าสำเภากับประเทศจีนซึ่งเป็นรายได้หลักของไทยในยุคนั้น โดยที่ชาวจีนมีนิสัยอดทน สู้งานหนัก และถนัดกาค้า รัฐบาลจึงมีมาตรการหลายอย่างเพื่อจูงใจให้ชาวจีนเข้ามาทำงานในเมืองไทย ในยุคนี้ ชาวจีนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ได้สิทธิ์เดินทางเข้าออกประเทศไทยโดยเสรี เมื่อเข้ามาแล้วจะเลือกสักข้อมือเข้าสังกัดมูลนายเหมือนคนไทยก็ได้ หรือจะอยู่อย่างอิสระโดยจ่ายเงินค่า "ผูกปี้" ให้หลวงก็ได้ สิทธิพิเศษนี้ทำให้ชาวจีนเดินทางไปรับจ้างทำงานได้ทั่วประเทศ โดยไม่มีภาระต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานให้มูลนายปีละ 3 - 4 เดือนอย่างคนไทย ชาวจีนจึงมีโอกาสมากมายในการทำมาหากินก่อร่างสร้างตัว นอกจากเป็นแรงงานรับจ้างแล้ว ชาวจีนยังประกอบอาชีพช่างฝีมือ ค้าขาย ทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เป็นต้น หลายคนสามารถสะสมทุนทรัพย์สร้างฐานะจนมั่งคั่งเป็น "เจ้าสัว"

"ผูกปี้" เป็นวิธีที่รัฐบาลไทยใช้เรียกเก็บเงินจากชาวจีนแทนการเกณฑ์แรงงาน เมื่อชาวจีนจ่ายเงินค่าผูกปี้แล้ว เจ้าพนักงานจะใช้เชือกป่านผูกให้ที่ข้อมือและใช้ครั่งกดติดที่ปมเชือกให้เป็นรูปกลมคล้ายปี้ที่ใช้ในโรงบ่อน แล้วประทับตราของทางราชการเป็นหลักฐาน ช่วงเวลาที่จัดการผูกปี้คราวหนึ่งราว 6 เดือน เมื่อพ้นไปแล้วก้ตัดปี้ที่ข้อมือทิ้งได้ ในตอนแรกเริ่มรัฐบาลเรียกเก็บค่าผูกปี้จากชาวจีนคนละ 2 บาทต่อปี ต่อมาเปลี่ยนเป็น 4 บาท ต่อ 3 ปี อัตรานี้ต่ำกว่าที่คนไทยต้องจ่ายเดือนละ 6 บาท หากไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงานตามปกติ

ยุคแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับสมัยราชวงศ์ชิงปกครองประเทศจีน ขณะนั้นมีกฎหมาย ห้ามชาวจีนอพยพออกนอกประเทศ ด้วยเกรงจะไปรวมกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ชิงที่เป็นชาวแมนจู แต่กฎหมายนี้ก็ไม่อาจสกัดกั้นการอพยพได้ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของประเทศซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่ทำกินมีน้อย และยังประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่องจนเกิดภาวะอดอยากขาดแคลน ชาวจีนจากแถบนี้ซึ่งมีเป็นจำนวนมากอาศัยเรือสินค้าเดินทางมาทำมาหากินในเมืองไทย

ด้านกาค้ากับต่างประเทศ รัฐบาลจีนกำหนดให้เรือสินค้าต่างชาติ ติดต่อค้าขายกับจีนได้ที่เมืองกวางโจว(กวางตุ้ง) เท่านั้น แต่เรือสำเภาของไทยซึ่งใช้คนจีนเป็นผู้ดำเนินการ สามารถเดินทางไปค้าขายตามเมืองต่าง ๆ ได้เหมือนเรือท้องถิ่นของจีน ตั้งแต่เกาะไหหลำ เรื่อยขึ้นไปจนถึงเมืองหนิงโป เซี่ยงไฮ้ และเทียนสิน บริเวณที่มีการค้าขายกันมากที่สุดคือทางตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้งที่เชื่อมต่อกับตอนใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน โดยเฉพาะจังหวัดเฉาโจวหรือแต้จิ๋ว(เตี่ยจิว)

ระหว่าง พ.ศ. 2383 - 2385 เกิดสงครามฝิ่นระหว่างจีนกับอังกฤษ ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีน จีนถูกบังคับให้เปิดประเทศและต้องเสียค่าปฎิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล รัฐบาลต้องหารายได้เพิ่มด้วยการขึ้นภาษีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนทั่วไป เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ชาวจีนอพยพออกนอกประเทศ


ที่สำเพ็งยุคแรก มี "เก๋ง" หรือบ้านของ "เจ้าสัว" คหบดีจีนผู้มั่งคั่งหลายคน ซึ่งเป็นจีนเก่าที่อยู่เมืองไทยมานาน และสร้างฐานะจนเป็นที่ยอมรับในหมู่คนจีนด้วยกัน เจ้าสัวเหล่านี้เป็น "ตั้วเฮีย" (พี่ใหญ่) ที่ให้การอุปถัมภ์แก่จีนใหม่ด้วยระบบ "กงสี" หัวใจของกงสีคือคำว่า "กากีนั้ง" หมายถึงการดูแลพวกเดียวกัน ดุจญาติพี่น้อง กงสีแต่ละแห่งจึงเป็นศูนย์รวมของคนแซ่เดียวกันหรือมาจากถิ่นเดียวกัน ตั้วเฮียจะคอยช่วยเหลือตั้งแต่ให้ยืมเงินค่าผูกปี้ไปจนถึงค่ากินอยู่ และจัดหางานให้ อีกทั้งเป็นที่พึ่งพาในเรื่องต่าง ๆ โดยได้แรงงานและความภักดีตอบแทน ระบบกงสีนี้เป็นต้นเค้าของการรวมกลุ่มอั้งยี่และสมาคมต่าง ๆ ของคนจีนในยุคหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น