วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บ้านเกิดของชาวจีนอพยพที่เข้ามาในประเทศไทย

ชาวจีนที่อพยพเข้ามายังประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากทางตอนใต้ของจีน แบ่งกลุ่มตามภาษาพูดและภูมิลำเนาได้ดังนี้





ชาวจีนฮกเกี้ยน มาจากตอนใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน





ชาวจีนแต้จิ๋ว มาจากทางตะวัดออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง





ชาวจีนแคะ มาจากตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง





ชาวจีนกวางตุ้ง มาจากตอนกลางของมณฑลกวางตุ้ง





ชาวจีนไหหลำ มาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ





จังหวัดเฉาโจวหรือแต้จิ๋ว ทางเหนือของมณฑลกวางตุ้ง เป็นย่านที่มีการค้าสำเภากับไทยมากที่สุดในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ท่าเรือสำคัญคือท่าจางหลิน ที่อำเภอเถ่งไห้ ซึ่งมีเรือสินค้าไทยจีนแล่นค้าขายกันเป็นประจำ เรือของจีนที่ออกจากท่าจางหลินจะทาสีหัวเรือเป็นสีแดง เรียกว่า "สำเภาหัวแดง" นอกจากสินค้าแล้ว เรือเหล่านี้ยังพาชาวจีนจำนวนมากมาหางานทำในเมืองไทย คำบอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ และคำชวนจากญาติพี่น้องที่เคยมา ทำให้ชายหนุ่มจากหมู่บ้านยากจนของแต้จิ๋วและจังหวัดใกล้เคียง ก้าวขึ้นเรือสำเภาหัวแดงด้วยความหวังเต็มเปี่ยมในช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดลงมาทางใต้ พาเรือสู่เมืองไทย



ใต้ท้องเรือเหล่านี้บรรทุกสินค้าจนเต็ม ที่อยู่ของผู้โดยสารคือดาดฟ้าเรือ แต่ละคนมีของติดตัวมาไม่กี่ชิ้น ที่สำคัญคือ เสื่อ หมอนไม้ไผ่สาน หมวกฟาง และไหน้ำ ส่วนอาหารหลักคือขนมเข่งซึ่งเก็บได้นาน และฟักเขียวซึ่งกินแทนน้ำได้อีกทั้งเป็นชูชีพหากเรือแตก การเดินทางจากจางหลินถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาราว 1 เดือน ระหว่างนั้นผู้โดยสารทำอะไรไม่ได้นัก นอกจากภาวนาขอเทพเจ้าคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัย รอดพ้นจากอันตรายกลางท้องทะเล ที่มีทั้งพายุคลื่นลม และความอดอยากหรือโรคภัยไข้เจ็บซึ่งอาจเกิดขึ้นในเรือ
เรือสำเภาจากเมืองจีน มาถึงกรุงเทพฯ ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน จุดที่เรือต่างชาติเข้ามาใกล้พระนครได้มากที่สุดคือย่านสำเพ็ง ซึ่งอยู่ติดกำแพงพระนครด้านทิศใต้ ในแม่น้ำย่านนี้มีเรือสินค้าจอดเปิดตลาดบนดาดฟ้าเรือกันคึกคัก สินค้าส่วนหนึ่งถูกลำเลียงไปยังร้านค้าต่าง ๆ ในสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านตลาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนและร้านรวงของ ชาวจีนตั้งอยู่หนาแน่น ส่วนตามริมแม่น้ำก็มีเรือนแพ ของพ่อค้าจีนอยู่เรียงราย ผู้โดยสารชาวจีนจำนวนมากก้าวลงจากเรือที่นี่ คนจีนใหม่ที่เพิ่งมาเมืองไทยครั้งแรกจะมีญาติพี่น้องหรือคนจากหมู่บ้านเดียวกันคอยช่วยเหลือในการตั้งต้นชีวิตบนแผ่นดินใหม่ หลายคนได้งานทำอยู่ที่สำเพ็งเริ่มจากรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม หรือขายของหาบเร่ แล้วจึงขยับขยายสู่อาชีพอื่น ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น