วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2393 - 2411

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดประเทสรับอารยธรรมตะวันตกและเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศ ซึ่งเริ่มแต่ครั้งที่อังกฤษส่งเซอร์จอห์น เบาวริ่ง มาทำสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2398 รัฐบาลไทยยกเลิกระบบผูกขาดการค้าโดยสิ้นเชิง แต่ระบบเจ้าภาษีนายอากรที่ดำเนินการโดยชาวจีนยิ่งเฟื่องฟูเพื่อชดเชยรายได้ของรัฐ ขณะเดียวกันชาวจีนได้มีบทบาทสำคัญเป็นคนกลางในการค้ากับตะวันตกซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการค้าเสรียังทำให้มีความต้องการแรงงานมากยิ่งขึ้นเพื่อผลิตสินค้าส่งออก เปิดโอกาสให้ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองไทย จนเกิดการแข่งขันเรื่องการจัดการแรงงาน โดยเกิดกงสีขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งต่อมากลายเป็นสมาคมลับที่มักกระทบกระทั่งกัน รัฐบาลควบคุมดูแลชาวจีนเพิ่มขึ้นโดยตั้งตำแหน่งปลัดจีน เป็นที่ปรึกษาในการตัดสินคดีความของคนจีน





ในรัชสมัยนี้มีการขยายเขตตัวเมืองกรุงเทพฯ ไปทางตะวันออก โดยขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูเมืองชั้นนอก สำเพ็งกลายเป็นชุมชนภายในพระนคร และมีการตัดถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นถนนสมัยใหม่สายแรกของกรุงเทพฯ ผ่านสำเพ็ง ทำให้ย่านการค้าของคนจีนบริเวณนี้ขยายตัวตามไปด้วย





สภาวการณ์ในประเทศจีน ความพ่ายแพ้ของจีนในสงครามฝิ่นครั้งแรก ทำให้เกิดกบฎใต้ผิงต่อต้านราชวงศ์ชิง ซึ่งลุกลามไปหลายมณฑลในระหว่าง พ.ศ. 2398 - 2403 ราชสำนักชิงปราบปรามอย่างรุนแรง ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากอพยพลี้ภัยไปนอกประเทศ ขณะเดียวกันก็เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ระหว่างจีนกับมหาอำนาจตะวันตกในช่วง พ.ศ. 2399 - 2403 ซึ่งจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องยอมเปิดเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งยกเลิกคำสั่งห้ามชาวจีนออกนอกประเทศ ทำให้การส่งแรงงานจีนไปต่างประเทศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยใน พ.ศ.2404 มีการเปิดเมืองซัวเถาเป็นเมืองท่าอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ชาวแต้จิ๋วอพยพมายังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น