วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อาชีพของชาวจีนในยุคแรก ๆ ที่มาเมืองไทย

ของใช้แบบไทยที่ทำจากทองเหลือง เช่น ขันน้ำ พานรอง ทัพพี โตก เชิงเทียน เครื่องเชี่ยนหมาก เป็นสิ่งที่คนไทยนิยมมีไว้ใช้ประจำบ้าน ส่วนใหญ่คนไทยเป็นผู้ผลิตสิ่งเหล่านี้เองแต่ไม่ถนัดการค้า คนจีนเข้ามาเป็นคนกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อ โดยเปิดร้านขายอยู่ที่สำเพ็ง การที่พ่อค้าจีนในยุคนั้นมักมีภรรยาเป็นคนไทย ช่วยให้การติดต่อซื้อขายกับคนไทยเป็นไปอย่างราบรื่น





ร้านชำ ร้านชำในสำเพ็งขายอาหารแห้งและของหมักดองแบบจีน รวมทั้งผลไม้สดจากเมืองจีนที่จัดเป็นของแพงในยุคนั้น และยังมีของใช้ต่าง ๆ สำหรับวิถีชีวิตจีน เช่น เครื่องไหว้เจ้า โคมกระดาษ ตะเกียง เดิมสินค้าในร้านชำส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเมืองจีนเพื่อลูกค้าชาวจีนเป็นหลัก ต่อมาหลายอย่างได้แพร่หลายไปสู่คนไทยด้วย





ร้านเครื่องกระเบื้องถ้วยชาม เครื่องถ้วยชามเนื้อกระเบื้องเคลือบ เป็นสินค้าที่นำเข้าจากเมืองจีนเป็นจำนวนมากในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีทั้งแบบที่สั่งทำเป็นพิเศษสำหรับชนชั้นสูงและแบบที่ทำมาขายคนทั่วไป โดยในยุคนั้นไทยยังผลิตได้ไม่ดีเท่า นอกจากนี้ในร้านเครื่องกระเบื้องยังมีสินค้าราคาแพงอื่น ๆ จากเมืองจีน เช่น เครื่องแก้ว ผ้าแพร เป็นต้น





หาบจุ๋ยก้วย จุ๋ยก้วยคือขนมถ้วยแบบจีน ทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่งสุก เวลาขายตักใส่กระทงโรยหน้าด้วยกระเทียม หัวไชโป๊วสับละเอียด และปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำ เป็นของกินเล่นที่นิยมในหมู่คนจีนเพราะอิ่มท้องและราคาถูก การหาบเร่ขายของกินแบบนี้เป็นอาชีพหนึ่งของจีนใหม่ ใช้ทุนไม่มากนัก





คนสานโคม โคมกระดาษเป็นเครื่องใช้ตามบ้านเรือนและใช้ในพิธีต่าง ๆ ของคนจีน ในชุมชนจีนจึงมีคนสานโคมขายเป็นอาชีพ ซึ่งรวมถึงการเขียนตัวอักษรลงบนโคม โคมสำหรับแขวนหน้าร้านค้ามักเขียนตัวอักษรสีแดงเป็นชื่อร้าน ส่วนโคมที่ใช้ในงานศพเขียนด้วยตัวอักษรสีน้ำเงิน ในสำเพ็งมีตรอกเล็ก ๆ ชื่อตรอกโรงโคม เป็นแหล่งที่ทำโคมขายกันมาก





หาบก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวคืออาหารเส้นที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า กินกับน้ำแกงโดยใส่เครื่องประกอบต่าง ๆ คนจีนแต้จิ๋วนำมาเผยแพร่จนเป็นที่นิยมในเมืองไทย จีนใหม่หลายคนยึดอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวโดยหาบอุปกรณ์เดินเร่ขายไปตามที่ต่าง ๆ ในยุคนั้นลูกค้าที่จะกินก๋วยเตี๋ยวต้องนำชามมาใส่เอง











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น