วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชาวจีนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2453 - 2468

กระแสชาตินิยมจีนที่เกิดขึ้นก่อน ทำให้เกิดแนวคิดชาตินิยมไทยขึ้นในรัชสมัยนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มนโยบายสร้างความเป็นไทย โดยให้สิทธิ์แปลงสัญชาติเป็นไทย แก่คนต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี และประพฤติดี ต่อมา พ.ศ. 2456 ประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ ทำให้บุคคลที่เกิดในประเทศไทย บุคคลที่มีบิดาเป็นคนไทยไม่ว่าจะเกิดที่ใด บุคคลที่สมรสกับคนไทย และคนต่างชาติที่แปลงสัญชาติจะได้สัญชาติไทย ส่วนในด้านการศึกษาซึ่งมีโรงเรียนจีนจำนวนมากที่สอนแต่ภาษาจีนรัฐบาลไทยก็ออกกฎหมายให้ต้องมีการสอนภาษาไทยและประวัติศาสตร์ไทยด้วย เพื่อให้นักเรียนจีนมีความรู้เรื่องเมืองไทยและอยู่ในสังคมไทยได้อย่างกลมกลืน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำประเทศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และได้รับชัยชนะ ทำให้อิทธิพลของชาติตะวันตกในเมืองไทยลดลง เปิดโอกาสให้กิจการค้าข้าวของชาวจีนเติบโตอย่างมากเกิดแหล่งธุรกิจส่งออกข้าวที่ถนนทรงวาดในย่านสำเพ็ง และถนนเยาวราชก็เริ่มพัฒนาเป็นย่านธุรกิจสำคัญ

ในสภาวการณ์ในประเทศจีน พ.ศ. 2454 เกิดการปฎิวัติชินไฮ่โค่นล้มราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ จีนเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐภายใต้การนำของ ดร.ซุนยัดเซ็น แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง แต่หลังจากนั้นบรรดาขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลก็แย่งชิงอำนาจกัน ประเทศจีนแบ่งเป็นเขตอิทธิพลของขุนศึกต่าง ๆ ต่อมา พ.ศ.2463 มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์โดยได้รับอิทธิพลจากรัสเซีย ระยะแรกพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋งร่วมกันปราบปรามขุนศึกเพื่อรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ไม่นานทั้งสองฝ่ายก็ขัดแย้งกันและเกิดการต่อสู้ระหว่างสองแนวคิด ส่งผลให้ชาวจีนในเมืองไทยมีการเคลื่อนไหวตามแนวทางทั้งสอง เมื่อ ดร.ซุนยัดเซ็น ถึงแก่อสัญกรรม ใน พ.ศ.2468 ได้ระบุในพินัยกรรมให้ชาวจีนสามัคคีและต่อสู้เพื่อชาติต่อไป นักเรียนโรงเรียนจีนท่องพินัยกรรมนี้ต่อมาเป็นเวลานาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น