วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การค้าสำเภากับจีน Junk Trade

รายได้หลักของไทยในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาจากการค้าสำเภากับประเทศจีนโดยมีพระคลังสินค้าของรัฐบาลเป็นผู้รวบรวมสินค้าและผูกขาดการค้ากับต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาศัยชาวจีนดำเนินการให้ทั้งหมด ตั้งแต่การเดินเรือไปจนถึงติดต่อซื้อขายกับพ่อค้าที่เมืองจีน เรือสินค้าของไทยยุคนั้นนิยมต่อแบบเรือสำเภาแต้จิ๋ว แต่ทาสีหัวเรือเป็นสีขาวเรียกว่า "สำเภาหัวขาว" เมื่อนำสินค้าไทยไปขายยังเมืองจีนแล้ว ขากลับก็จะนำสินค้าจีนกลับมาด้วย สินค้าหลักที่ไทยส่งออกในยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นของป่าและสินค้าเกษตรนอกจากนี้เรือสำเภาที่ต่อขึ้นในเมืองไทยด้วยไม้เนื้อดีแต่มีราคาถูก ก็เป็นสินค้าสำคัญเช่นกัน

สินค้าของจีนที่เมืองไทยต้องการในยุคนั้น ส่วนใหญ่เป็นของแปรรูป มีทั้งของราคาแพงสำหรับชนชั้นสูง และของใช้สำหรับคนทั่ว ๆ ไป

** ผ้าดิบ ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้าดำ

** เครื่องกระเบื้องเคลือบ

** กระดาษ พัด ร่ม เครื่องไหว้เจ้า

** ผักผลไม้แห้งและดอง ใบชา ยาจีน

** หินปูพื้น กระเบื้องมุงหลังคา ตุ๊กตาหิน

จนกระทั่งปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 การค้าด้วยเรือสำเภาเริ่มเสื่อมความนิยม และถูกแทนที่ด้วยเรือกลไฟแบบตะวันตก อันเป็นนวัตกรรมของยุคใหม่ที่ทำให้การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างประเทศสะดวกรวดเร็วกว่าแต่ก่อน นับเป็นสัญญาณของการก้าวเข้าสู่ยุคที่ชาติตะวันตกแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ซึ่งในยุครุ่งเรืองของเรือกลไฟ ไทยหันไปค้าขายกับตะวันตกเป็นหลัก โดยรับบทบาทผู้ผลิตข้าว ไม้สัก และดีบุก ส่งออกสู่ตลาดโลก นำรายได้เข้าประเทศมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ขณะที่การค้ากับจีนลดความสำคัญลงนั้น ชาวจีนก็พากันโดยสารเรือกลไฟเข้ามาหางานทำในเมืองไทยมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว โดยมีแหล่งจ้างงานใหม่ ๆ เช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย เหมืองแร่ เกิดขึ้นมากมาย
หลัง พ.ศ.2400 มีเรือกลไฟขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ กับจีนตอนใต้ เปิดให้บริการเป็นประจำหลายเส้นทาง ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 7 - 10 วัน และเดินเรือได้ตลอดทั้งปี ทำให้จำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังเมืองไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้างกระโดด โดยเฉพาะจากซัวเถาและไหหลำ คลื่นชาวจีนรุ่นใหม่นี้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจสมัยใหม่ของไทย แทนที่เจ้าสัวผู้มั่งคั่งจากระบบเก่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น