วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ค่านิยมการกินของดีของชาวจีน

ชาวจีนเมื่อสร้างฐานะได้พอควรแล้วก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน โดยมีค่านิยมว่าการกินของอร่อยเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต ตลาดที่เยาวราชจึงคัดสรรแต่ของดีมาจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้าจนขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์รวมวัตถุดิบ ชั้นเยี่ยมในการประกอบอาหาร โดยมีแหล่งของสดที่ตลาดเก่า ผักสดที่ตลาดกรมภูธเรศ ของแห้งที่ตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ย ทั้งหมดอยู่ใกล้กันสามารถเดินซื้อของได้ในคราวเดียว สินค้าในตลาดนี้แม้จะมีราคาสูงกว่าที่อื่น ๆ แต่ก็เป็นที่นิยมของลูกค้าเพราะเชื่อใจได้ว่าล้วนเป็นของดีมีคุณภาพ

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เดิมเป็นศาลเจ้าแต้จิ๋วที่เก่าแก่ ซึ่งผู้ประกอบกิจการค้าในแถบนี้ให้ความนับถือ ศรัทธา ยึดเป็นที่พึ่งและกราบไหว้บูชาเพื่อความก้าวหน้าในกิจการของตนเอง ศาลเจ้าเป็นอาคารหลังเดียวขนาดย่อม สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีน จากประตูใหญ่เข้าไปมีอาคารที่สร้างเป็นทรงภูเขาตามประเพณีนิยมของชาวจีน มีหลังคาใหญ่ปูด้วยกระเบื้องเคลือบสี มีมังกรปูนปั้น 2 ตัว หันเข้าหากันประดับอยู่ด้านบน และมีเสาที่พันรอบด้วยมังกรปูนปั้นตัวยาว ภายในมีแท่นบูชารูป เล่งบ๊วยเอี๊ยะ และภรรยาเป็นแท่นประธาน ฝั่งซ้ายมือตั้งแท่นเทพเจ้ากวนอูและฝั่งขวามือเป็นแท่นประทับราชินีแห่งสวรรค์ ส่วนด้านขวาใกล้ประตู เป็นที่ตั้งระฆังโบราณที่สร้างมาแต่รัชสมัยพระเจ้าเต้ากวงซึ่งเป็นฮ่องเต้ช่วงปลายราชวงศ์ชิงของจีน นอกจากจะมีอายุยาวนานกว่า 300 ปีแล้ว ความสำคัญของ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ยังอยู่ที่โบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ป้ายโบราณ 3 ป้ายที่เขียนขึ้นในรัชสมัยพระเจ้ากวางสีฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิง อีกป้ายหนึ่งเก่าแก่ยิ่งกว่าคือ ป้ายที่เขียนขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง รวมทั้งระฆังจารึกชื่อ เฉิน ไท จื้อ ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานที่ศาลเจ้านี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีกระถางธูปพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เก็บไว้ด้วย

ตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยตั้งอยู่ในซอยเล็ก ๆ มีร้านค้าตลอดสองข้างทาง เป็นแหล่งขายของแห้ง ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูปนานาชนิด มีจุดเด่นที่ร้านชำแบบกวางตุ้งหรือจาบฟอโผว ซึ่งจำหน่ายสินค้าทั้งอาหารแห้ง อาหารรมควัน เครื่องปรุงรส ของหมักดอง ทั้งที่ผลิตภายในประเทศ และสินค้านำเข้า รวมทั้งเครื่องครัวเครื่องใช้ของคนจีน ตลอดจนของไหว้ตามเทศกาล ช่วงตรุษจีนเป็นช่วงที่ตลาดคึกคักและมีสีสันที่สุด เต็มไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของไหว้เจ้า ร้านค้าต่าง ๆ จะจัดเตรียมสินค้าชนิดพิเศษสุดไว้บริการลูกค้า

ย่านตลาดเก่าและตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยเป็นตลาดเก่าแก่ตั้งอยู่ในซอยอสรานุภาพคนละฝั่งถนน เดิมเป็นตลาดเดียวกันมาก่อนที่จะมีถนนเยาวราชตัดแบ่ง บริเวณริมถนนในย่านนี้เต็มไปด้วยร้านขายของสดของแห้งแบบจีน มีทั้งร้านหมูแผ่นหมูหยอง ร้านกุนเชียง และร้านขนมจันอับ ร้านซีอิ๊วง่วนเชียง ร้านซีอิ๊วก้วงห่างเส็ง(ตราแมลงปอ) และร้านง่วนสูน(พริกไทยตรามือที่ 1)ซึ่งผลิตจำหน่ายไปทั่วประเทศก็ตั้งอยู่ที่นี่

ลองมาชมประวัติของศาลเจ้าเล่งบ๋วยเอี๊ยกันครับ
ซึ่งเป็นที่มาของชื่อตลาดนี้ด้วย


ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะที่ถนนเยาวราชมีสร้างขึ้นเป็นศาลเจ้าที่เกี่ยวกับเวียนเหอเยี่ยหยุนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิและสมาคมต่าง ๆ ที่นับถือท่านเหอเยี่ยหยุนโดยตั้งรูปเคารพของท่านไว้เป็นประธานศาลเจ้าอีกหลายแห่ง ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ตั้งอยู่ที่ซอยอิศรานุภาพ ถนนเยาวราชมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน สร้างขึ้นคริสต์ที่ 17 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง เนื่องจากป้ายที่เหลืออยู่ในศาลนี้มีข้อความที่บ่งบอกปีศักราชของจีน ทำให้ทราบว่าศาลเจ้านี้มีขึ้นก่อน พ.ศ.2201

เล่งบ๊วยเอี๊ยะ เซียนเหอเยี่ยหยุน เดิมชื่อ เคยหยี่ มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์หยวน ซึ่งขณะนั้นกำลังแย่งชิงอำนาจกับจูเหวียนจางในสงครามที่สระน้ำโปหยาง เฉินโหย่วถูกยิงด้วยธนูตายจูเหวียนจางจึงตั้งตนเป็นจักรพรรดิสถาปนาราชวงศ์ใหม่ว่า "เม้ง" ดังนั้นเคยหยี่จึงเปลี่ยนเป็น เหอเยี่ยหยุนและออกเดินทางไปยัง ฮกเกี้ยน กวางตุ้ง โดยได้ศึกษาค้นคว้า การดูฮวงจุ้ยและการดูฤกษ์ยาม ท่านปฎิบัติธรรมเพื่อให้จิตใจสงบ ปล่อยปละผมเผ้า และการแต่งกายทำตัวสกปรกเยี่ยงขอทาน แต่ชาวบ้านก็ให้การเคารพนับถือมาก เรียกขานว่าเป็นเทพเจ้าเสือหมู่(เทพเจ้าเหา)ต่อมาไปอยู่ที่ศาลเจ้าสืออุ้ยที่ฮกเกี้ยน และศึกษาฌานสมาธิ เมื่ออายุ 50 ปี จึงออกเดินทางไปยังทิศเหนือที่เขาไท่หานเพื่อเผยแพร่หลักธรรมและวิถีแห่งเต๋าของเหล่าจือ ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ได้สั่งไว้ว่าให้เอาศพไปฝังไว้ที่อำเภอฉีซาน บริเวณที่ฝั่งศพนั้นได้ตั้งเป็นศาลเจ้าเพื่อให้คนกราบไหว้บูชา ตั้งชื่อว่า ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ และมีกระดาษยันต์ของเล่งบ๊วยเอี๊ยะ เพื่อใช้สำหรับป้องกันภูตผีเป็นที่ลือชื่อ ศาลเจ้าโบราณที่ฉีซานจึงเป็นที่เคารพนับถือมาจนถึงปัจจุบัน













มาชมตลาดเหล่งบ๋วยเอี๊ยกันดีกว่าครับ













ไก่สด

ปลิงทะเล


































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น