วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ย่านธุรกิจค้าข้าวที่ถนนทรงวาด

สงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป ทำให้อิทธิพลของชาติตะวันตกในเมืองไทยลดลง เปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าข้าวของกลุ่มพ่อค้าจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากสงครามสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2461 ความต้องการข้าวในตลาดโลกก็พุ่งสูง พ่อค้าจีนพากันตั้งโรงสีข้าวอย่างมากมายจนต้องแย่งกันซื้อข้าวเข้าโรงสีเพื่อส่งออก โดยมีสำนักงานรับซื้อและส่งออกข้าวเกิดขึ้นจำนวนมากตามริมแม่น้ำที่ย่านสำเพ็งแถบถนนทรงวาดต่อเนื่องถึงถนนอนุวงศ์ ซึ่งจะส่งข้าวไปยังร้านค้าตัวแทนของตนที่สิงคโปร์ ฮ่องกง และซัวถัว เป็นหลัก และขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากแหล่งดังกล่าวมาจำหน่ายในย่านทรงวาดจนเกิดเป็นศูนย์กลางการค้าปลีกระดับประเทศ ซึ่งพ่อค้าข้าวจากต่างจังหวัดจะสั่งซื้อสินค้าต่าง ๆ กลับไปจำหน่าย ถนนทรงวาดจึงกลายเป็นย่านธุรกิจสำคัญของชาวจีนก่อนที่จะขยายไปสู่ถนนเยาวราชในเวลาต่อมา

หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระหว่างไทยกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2398 รัฐบาลไทยอนุญาตให้ข้าวเป็นสินค้าส่งออกได้โดยเสรีเป็นครั้งแรก จากนั้นไม่นานไทยก็กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก การค้าข้าวกลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาล มีโรงสีข้าวเกิดขึ้นมากมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในระยะแรกโรงสีและบริษัทส่งออกข้าวทั้งหมดเป็นของชาวตะวันตก โดยมีพ่อค้าจีนเป็น "คอมปราโดร์" ทำหน้าที่ตัวแทนให้กับบริษัทของฝรั่งในการจัดซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาเข้าสู่โรงสี ซึ่งชาวจีนใช้เวลาเรียนรู้ธุรกิจใหม่นี้ราว 20 ปี ก็สามารถตั้งโรงสีแห่งแรกของตนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2422 และขยายกิจการค้าข้าวในกลุ่มคนจีนออกไปอย่างกว้างขวาง พ่อค้าจีนเก่าเป็นเจ้าภาษีนายอากรมาแต่เดิม และพ่อค้าจีนอิสระรุ่นใหม่จากตลาดค้าข้าวที่ซัวเถา ฮ่องกง และสิงค์โปร์ ต่างระดมทุนและสานความสัมพันธ์กันอย่างเข้มแข็ง เพื่อต่อสู้ในเชิงธุรกิจกับชาวตะวันตก จนในที่สุดชาวจีนก็เข้าควบคุมเครือข่ายการค้าข้าวของไทยไว้ได้ครบวงจร ตั้งแต่การรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา นำมาสีเป็นข้าวสาร และส่งออกต่างประเทศ


ในกระบวนการส่งออกข้าว ตัวแทนโรงสีจะนำตัวอย่างข้าวสารมาให้ "หยง" หรือนายหน้าซึ่งจะแบ่งตัวอย่างข้าวใส่ห่อและนำมาเสนอขายตามสำนักงานผู้ส่งออก ผู้จัดการสำนักงานจะตรวจคุณภาพของข้าวด้วยความชำนาญ โดยใช้เพียงสายตาและนิ้วสัมผัส ตรวจดูความชื้นและความสมบูรณ์ของเมล็ดข้าว ก่อนจะตกลง ราคา ปริมาณ และวันกำหนดส่งข้าว ซึ่งหยงจะดูแลให้โรงสีดำเนินการตามที่ตกลงกัน


ในที่สุดจากความสำเร็จในกิจการค้าข้าว ชาวจีนในเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันเพื่อชิงความเป็นผู้นำในธุรกิจสมัยใหม่อื่น ๆ จากชาวตะวันตก เพื่อให้พวกตนยืนหยัดอยู่ได้ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกระบบเจ้าภาษีนายอากรซึ่งเป็นแหล่งทุนสำคัญของพ่อค้าจีนมาแต่เดิม ซึ่งในช่วงเวลาสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2450 - 2456 มีธุรกิจหลายอย่างที่ชาวจีนก่อตั้งขึ้นแล้วต้องเลิกกิจการไปอย่างรวดเร็ว ทั้งบริษัทเดินเรือ ธนาคาร และบริษัทประกันภัย เพราะขาดความรู้ความชำนาญ อีกทั้งเงินทุนไม่เพียงพอที่จะแข่งกับบริษัทของชาวตะวันตก แต่ประสบการณ์จากการต่อสู้ด้วยธาตุทรหดของนักธุรกิจจีนรุ่นนี้ เป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับคนรุ่นถัดมา ในที่สุดกลุ่มพ่อค้าจีนก็ได้กลับมาเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในธุรกิจสมัยใหม่ของไทยทั้งในกิจการนำเข้า ส่งออก ธนาคาร สถาบันการเงิน การประกันภัย การขนส่ง และการเดินเรือ นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา


ในปี พ.ศ.2451 พ่อค้าจีน 5 กลุ่มภาษาในกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันทำธุรกิจเป็นครั้งแรก จัดตั้งบริษัทเดินเรือชื่อ "บริษัทเรือเมล์จีนสยาม ทุนจำกัด" เพื่อเดินเรือรับส่งผู้โดยสารและสินค้าเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง-ซัวเถา-ไหหลำ แข่งกับบริษัทเยอรมันนอร์ดดอยท์เชอร์ลอยด์ ซึ่งผูกขาดการเดินเรือกรุงเทพฯ-ซัวเถาอยู่ในขณะนั้น บริษัทเรือของคนจีนนี้อาศัยบรรดาพ่อค้า โรงรับจำนำ ร้านโพยก๊วน จนถึงโรงรถลาก ช่วยกันเกลี้ยกล่อมลูกค้าของตนให้ใช้บริการเรือจีนแต่บริษัทเยอรมันซึ่งทุนหนากว่า ใช้กลยุทธ์ตัดราคาค่าโดยสารจาก 20 - 25 บาท เหลือเพียง 5 บาท บริษัทเรือเมล์จีนสยามสู้ไม่ไหวจึงขาดทุนอย่างหนักจนต้องเลิกกิจการไปใน พ.ศ. 2455

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น